วิเคราะห์เรื่องใบไม้ที่หายไป
ผู้แต่ง จิระนันท์ พิตปรีชา
บทกวีเรื่องนี้ หากจะอ่านกันอย่างผิวเผินแล้ว ก็อาจจะคิดได้ว่าเป็นเพียงบันทึกประสบการณ์ชีวิตของผู้เขียนเท่านั้น เพราะเรื่องราวส่วนใหญ่ ได้กล่าวถึงความรู้สึกนึกคิดของผู้แต่ง พูดถึงหลายๆ สิ่ง หลายๆ อย่าง ที่ผู้แต่งได้ไปประสบพบเจอมากับชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับปัญหาการเมืองในช่วงนั้น การที่ผู้เขียนจำเป็นต้องหลบหนีเข้าป่าไป ต้องไปใช้ชีวิตอยู่กับกลุ่มคอมมิวนิสต์ ต้องจับปืนรบกับฝั่งตรงข้าม ซึ่งมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน ต้องมองดูเพื่อนฝูง คนที่เคยร่วมกินร่วมดื่มด้วยกันตกตายไปเพราะคำว่า “อุดมการณ์” ต้องผิดหวังกับความเป็นจริงที่สวนทางกับความฝัน ทำให้อารมณ์หลายหลากเหล่านั้น ถูกกลั่นกรองออกมาผ่านบทกวี จนกลายเป็นผลงาน ซึ่งเต็มเปรี่ยนไปด้วยข้อคิดต่างๆ ซึ่งหากทำเพียงอ่านผ่านตาไป ก็คงไม่มีทางตระหนักถึงข้อคิดอันทรงคุณค่าที่แฝงอยู่ในบทกวีนี้ได้
หากมองในอีกแง่มุม ก็คล้ายกับเรากำลังอ่านการเติบโตทางความคิดของใครสักคน ในระหว่างที่อ่าน นี่คืออีกหนึ่งความคิดของผู้วิเคราะห์ ที่ผุดวาบขึ้นมาขณะหนึ่ง เพราะในบทกวี มีหลายบทกวีที่มีการกล่าวถึงการเรียนในมหาลัย ซึ่งขณะนั้น ผู้แต่งยังคงเป็นแค่นักศึกษาคนหนึ่ง โดยเวลานั้นยังเต็มไปด้วยความนึกคิด ความฝัน รวมทั้งอุดมการณ์อันกล้าแกร่ง ถึงกับหันหน้าเข้าต่อสู้กับระบอบการเมือง ซึ่งมีแต่ความอยุติธรรมในยามนั้น ทั้งที่ตนเองก็เป็นผู้หญิง โดยในช่วงดังกล่าว สิทธิของสตรี ก็ไม่ได้มีมากอย่างทุกวันนี้ด้วย นับว่าผู้แต่ง เป็นหญิงที่มีความคิดก้าวหน้ามาก หากอ่านแล้วคิดตาม คงจะรักชาติมากขึ้นไม่มากก็น้อย
นอกจากผู้แต่งจะได้บอกเล่าประสบการณ์ชีวิตและข้อคิดมากมายของตนผ่านงานเขียนแล้ว ผู้แต่งยังได้สอดแทรกมุมมองทางการเมือง รวมถึงความรักชาติ ความหวังดีต่อประชาชนคนไทยด้วยกัน หวังว่าสักวันหนึ่ง ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงจะบังเกิดแก่ประเทศในสักวัน ถึงแม้จะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าสักเพียงใด หรือจะต้องตายไป แต่อุดมการณ์ที่มี ก็จะไม่เปลี่ยนแปลไป ดังบทกวีตอนหนึ่ง ซึ่งได้ถ่ายทอดความกล้าหารของผู้แต่งออกมาได้อย่างชัดเจน
มาจะกล่าวบทไป
ถึงกระบือฝูงใหญ่อนาถา
ถูกขังคอกแคบคับอัปรา
จนตายด้านชินชามานักแล้ว
เขาให้กินเศษกากซากเน่า
ด่าว่าโง่เง่าทั้งเถาแถว
หลอกล่อลวงใช้ไม่รู้แกว
สี่ขาตาแป๋วไว้ไถนา
มีควายย่อมมีคนบนหลังควาย
เคี่ยวเข็ญเป็นนายควายเบิ่งบ้า
เขาทวงคุณขุนเลี้ยงอย่างเลี่ยงนา
ตัวไหนกล้าปฏิวัติ-ซัดด้วยปืน
กูก็เป็นควาย…
งมงายตามประสาหน้าต้องฝืน
แต่เลือดกูหลายหยดเคยรดพื้น
เพราะมันขืนดัดจริตจะขวิดคน
วันนี้กูเกิดเบื่อ
ไม่อยากทำเชื่องเชื่อเมื่อเขาพ่น
แอกหนักขึ้นทุกวันมันเกินทน
เกลียดสายสนตะพายอยากคลายทิ้ง
"เขาแหลมหรือจะสู้ดาบปลายปืน"
กูยืนฟังคำกล้ำนิ่ง
ทางเดียวหรือที่มีจริง
จับกูพิงยิงเป้าให้พ้นเวร
นิสิตนักศึกษา กรกฎาคม ๒๕๑๖
จากบทกวี “บันทึกลับกระบือหนุ่ม”
จากการตีความของผู้วิเคราะห์เอง ผู้วิเคราะห์คิดว่า บทกวีนี้ หน้าจะกล่าวเปรียบประชาชนเป็นกระบือ ส่วนฝ่ายรัฐบาลในเวลานั้นเป็น “คนบนหลังควาย” ซึ่งคอยหลอกประชาชน ปิดหูปิดตาประชาชน เนื่องเพราะประชาชนกลัวอำนาจ จึงไม่ค่อยมีใครกล้าลุกขึ้นสู้ กระทั่งเมื่อถึงจุดหนึ่ง มีคนบางกลุ่มเกิดทนไม่ไหว ซึ่งคนกลุ่มนั้นก็คือเหล่าหนุ่มสาวนักศึกษานั่นเอง ถึงแม้ว่า เลือดเนื้อจะสู้ “ปืน” ไม่ได้ แต่ก็ขอต่อสู้จนตัวตาย เปรียบดังกระบือหนุ่ม ซึ่งไม่กลัวพยัคฆ์ร้ายนั่นเอง
ในส่วนฉันทลักษ์ ผู้วิเคราะห์มองว่า ผู้แต่งมีการใช้ฉันทลักษ์ได้ยอดเยี่ยม หากแต่บางบทกวี ก็ดูเหมือนจะไม่เคร่งมากนัก แต่ก็มีเนื้อหาที่ลึกซึ้ง ชวนให้ตระหนักคิดสอดแทรกเอาไว้ ซึ่งจะมองผ่านไปมิได้ นอกจากนี้ ยังมีข้อคิดบางข้อ มีประสบการณ์บางอย่าง ที่ผู้วิเคราะห์ในเวลานี้ ยังมิอาจตระหนักรู้หรือเข้าถึงได้ ทว่าโดยส่วนตัวแล้ว ผู้วิเคราะห์รู้สึกยินดีที่ได้หยิบหนังสือเรื่อง “ใบไม้ที่หายไป” ขึ้นมาอ่าน และมองว่า หนังสือเล่มนี้ ควรข้าแก่การที่จะเรียกได้ว่า “หนังสือที่ดี และมีคุณภาพ” ได้อย่างเต็มภาคภูมิ
- 15762 reads