-A A +A
category:

นวนิยายเรื่องคำพิพากษา เป็นผลงานเขียนของคุณ “ชาติ กอบจิตติ” โดยเนื้อเรื่องย่อ กล่าวถึง “ฟัก” เด็กหนุ่มที่อาศัยอยู่ในชุมชนเล็กๆ แห่งหนึ่ง ซึ่งยังห่างใกลความเจริญอยู่ช่วงหนึ่ง ตอนฟักยังเล็ก ครอบครัวของเขามีถาณะยากจน เขาและพ่อจึงต้องคอยพึ่งพาอาศัยวัดมาโดยตลอด กระทั่งโรงเรียนเปิดรับพานโรงคนใหม่ พ่อของฟักจึงได้เข้าไปทำงานนับแต่นั้น ส่วนตัวฟักเอง ก็ได้เข้าไปบวชเรียน ประกอบกับเป็นคนที่เฉลียวฉลาด ทั้งยังมีความประพฤติดี จึงได้รับความนับถือจากบรรดาชาวบ้านเป็นอันมาก

ดูเหมือนชีวิตฟักจะดีขึ้น แต่ไม่เลย เพราะหลังจากที่ฟักบวชเรียนได้ไม่นาน พ่อของฟักก็ได้ไปนำเมียใหม่เข้ามาอยู่ด้วย อีกทั้งหญิงคนนั้นยังไม่ค่อยเต็มมากนัก แต่เพราะฟักอยากให้พ่อมีความสุข เพราะตั้งแต่แม่ตายไป พ่อก็ไม่ได้มีใครอีก ดังนั้นฟักจึงไม่ได้ว่าอะไร

ทว่าไม่นาน สวรรค์ในทางธรรมของฟักก็ต้องสิ้นสุดลง เมื่อพ่อของเขาเสียชีวิต ดังนั้นฟักจึงต้องลาจากทางธรรมออกมาเพื่อเป็นพานโรงต่อจากพ่อ อีกทั้ง แต่เดิมส่วนตัวฟักเองยังคงคิดอยู่เสมอว่า ตนเป็นภาระให้แก่พ่อ ถ้าตนไม่สึกออกไป ก็ดูเหมือนจะเอาเปรียบพ่อ ให้พ่อหาเลี้ยงเมียเพียงลำพัง ยิ่งพ่อมาจากไป เมียของพ่อ ซึ่งไม่ค่อยเต็มมากนักจะอยู่ได้อย่างไร สุดท้าย สมบัติสิ่งสุดท้ายที่พ่อทิ้งเอาไว้ให้เขา ก็คือเมียของพ่อ กับตำแหน่งพานโรงนั่นเอง

เหตุการณ์เลวร้ายลง เมื่อนางสมทรงเมียที่จิตไม่ปกติของพ่อ อยู่ๆ ก็ไปประกาสต่อหน้าคนมากมายว่า ฟักคือผัวตน ครั้นชาวบ้านได้ยิน ก็เกิดเชื่อขึ้นมา ว่าฟักเป็นคนไม่ดี กระทั่งเมียของพ่อแท้ๆ ยังไม่เว้น ไม่ว่าฟักจะแก้ตัวยังไง ก็หามีใครรับฟังไม่ คนหมู่มากพอใจที่จะเชื่อเช่นนั้น มีหรือที่ความเป็นจริงจากปากคนคนเดียวจะเกิดผลใด

ฟักต้องอยู่อย่างฝืนทนตลอดมา เขาทำงานหามรุ่งหามค่ำ ใช้งานรักษาจิตใจที่อดสูให้ไม่คิดมากกับคำพูดของใคร แต่เพราะนางสมทรงมักหาเรื่องมาให้ฟักอยู่เรื่อยๆ ดังนั้นชีวิตเขาจึงมีแต่บรรดาปัญหาแวะเวียนมาอย่างไม่ขาดช่วง กระทั่งไม่มีใครอยากจ้างเขาทำงาน แต่ยังดีที่ครูใหญ่ ซึ่งเป็นครูประจำโรงเรียนในชุมชนยังคงจ้างฟักต่อไป

เหตุการณ์เริ่มเปลี่ยนอีกครั้ง เมื่อในงานเผาศพของพ่อฟัก นอกจากสัปเหร่อ กับนางสมทรงแล้ว กลับไม่มีชาวบ้านคนใด มางานศพเลยแม้แต่น้อย ด้วยความโสคเศร้าน้อยใจ ฟักจึงเผลอกินเหล้าที่สัปเหร่อนำมาให้เข้าไปเป็นจำนวนมาก จนเมาไม่รู้เรื่อง ทำให้สัปเหร่อต้องเดินไปส่งถึงบ้าน

ฟักรู้สึกติดใจในอาการมึนเมาของเหล้า เนื่องจากเวลาเมาไม่ต้องสนสายตาใคร อยากทำอะไรก็ทำ เหล้ามอบความกล้าให้แก่เขา ดังนั้นทุกวี่วัน ชายหนุ่มจึงอยู่แต่กับเหล้า จนงานการไม่ทำ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง กระทั่งวันหนึ่ง มีเด็กกลุ่มหนึ่งมาตามให้ฟักไปเปิดประตูห้องเรียน เนื่องจากฟักโมโหกับคำพูดล้อเลียนของเด็กๆ จึงเผลอทำเด็กบาดเจ็บจนเกิดเรื่องขึ้น

ทุกคนมองฟักในแง่ลบเพิ่มขึ้น ฟักดื่มหนักจนสุขภาพแย่ลงทุกวัน ยิ่งภายหลังเขาไปถามเอาเงินที่เขาฝากไว้กับครูใหญ่ แต่ครูใหญ่กับตอบปฏิเสธที่จะให้ บอกว่าฟักไม่ได้ฝ่ากเงินไว้กับตน ด้วยความโมโห ฟักจึงประกาสบอกให้คนอื่นๆ รู้ว่าตนโดนโกง แต่ไม่มีใครเชื่อ แถมยังถูกขังคุก กระทั่งครูใหญ่หวังเอาหน้าไปช่วยฟักออกมา โดยแลกกับที่ฟักยอมก้มกราบ ฟักจึงได้ออกจากคุก ในสุดท้าย ฟักตรอมใจ หมดสิ้นแล้วทุกสิ่งทุกอย่าง ตายลงด้วยพิษเหล้าในที่สุด

ส่วนตัวผู้รีวิวมองว่า เรื่อง “คำพิพากษา” นี้ เป็นเรื่องราวที่อาจจะเกิดขึ้นได้จริงในหลายๆ สังคม “คนดี” บางครั้งก็ใช่ว่าจะได้รับแต่สิ่งดีๆ อันที่จริง หากฟักไม่ยึดติดในความดีจนเกินไป ก็อาจจะไม่ตกอยู่ในสภาพนี้ หรือไม่ก็หนีไปเริ่มต้นใหม่ที่อื่นเสีย แต่เพราะความยึดติด ความยึดมั่นถือมั่น ประกอบกับรักในบ้านเกิด จึงมีจุดจบที่ไม่ดีนัก

นอกจากนี้ นวนิยายเรื่องนี้ ยังสอนให้เราไม่ไปเผลอตัดสินคนอื่นจากสิ่งที่ได้เห็นหรือได้ยิน เพราะเพียงเรามองเขาผิดไป นั่นอาจกระทบต่อชีวิตของเขาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่ต้องมองหาข้อเท็จจริง อย่าเชื่ออะไรง่ายๆ เพราะการเผลอไปตัดสินใครคนหนึ่งเพียงผิวเผินไม่ใช่สิ่งที่ดี

นอกจากที่กล่าวไปแล้ว ผู้เขียนยังต้องการสื่อให้ทราบถึงความอันตรายจากพิษสุรา การดื่มของมึนเมา ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรเลย มิหนำซ้ำ ยังคอยฉุดให้เรื่องเลวร้ายลง ดังจะเห็นตัวอย่างได้ นั่นก็คือจุดจบของฟักนั่นเอง

จากข้อคิดหลายอย่างที่ได้จากเนื้อเรื่อง และการสอดแทรกผ่านทางสำนวนการบรรยาย ทำให้ผู้รีวิวได้หันมามองตนเองว่า ผู้รีวิวเผลอไปตัดสิน หรือ “พิพากษา” ใครโดยไม่ตั้งใจหรือไม่ เพราะหากเป็นเช่นนั้นจริง ผู้รีวิวก็คงจะไม่ต่างจาก “บรรดาชาวบ้าน” ที่เชื่อแต่สิ่งที่ตนคิดว่าถูก โดยไม่ยอมค้นหาความเป็นจริง ไม่เปิดใจรับฟังผู้อื่น เพราะหนังสือเล่มนี้ จึงทำให้ผู้รีวิวตระหนักถึงคำพูดของตนดีขึ้นอีกมาก เพราะหากเผลอไป “พิพากษา” ใครแล้วเกิดเรื่องไม่ดีขึ้น ผู้รีวิวคงจะเสียใจเป็นอย่างยิ่ง

Shared: